พ.ร.บ.ลดโลกร้อน (Climate Change Act) กับบทบาทใหม่ของธุรกิจที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสู่ผู้นำด้าน Low Carbon Solutions
โดย ดร.สุพัฒนา วิชากูล
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก และประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ล่าสุด ประเทศไทยกำลังจะประกาศใช้ พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.ลดโลกร้อน (Climate Change Act) ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2568 นี้นั้น
ซึ่งพ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นกฎหมายที่มีเป้าหมายหลักเพื่อกำหนดกรอบการดำเนินงานของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในการรับมือและปรับตัวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กฎหมายฉบับนี้ได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับ ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement 2015) มุ่งเน้นให้ประเทศไทยมีมาตรการที่ชัดเจนและเป็นระบบในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสสำคัญสำหรับบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานในการเข้ามามีบทบาทสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ ให้สามารถปรับตัวและปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายฉบับนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สาระสำคัญของ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับนี้ประกอบด้วย 14 หมวดหลัก ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ดังนี้:
หมวด 1: บททั่วไป
กำหนดคำนิยามและหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการจัดการด้านภูมิอากาศ
หมวด 2: เป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
กำหนดเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น การลดก๊าซเรือนกระจก ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608
หมวด 3: คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
ตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการ รวมถึงกำกับดูแลมาตรการด้านก๊าซเรือนกระจกและความร่วมมือระหว่างประเทศ
หมวด 4: กองทุนภูมิอากาศ
จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการให้เงินช่วยเหลือและสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
หมวด 5: แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
กำหนดกรอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติของประเทศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานรัฐดำเนินงานสอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ
หมวด 6: ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก
จัดทำฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อการตรวจสอบ การคำนวณ และการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ
หมวด 7: การลดก๊าซเรือนกระจก
กำหนดแผนปฏิบัติการในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยีสะอาด และการเพิ่มประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมและพลังงาน
หมวด 8: ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จัดตั้งระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Trading) โดยกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดสรรสิทธิ การซื้อขาย และการกำกับดูแลตลาด
หมวด 9: กลไกการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน
กำหนดกลไกการปรับราคาคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้า เพื่อลดปัญหาการรั่วไหลของคาร์บอนและส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ
หมวด 10: ภาษีคาร์บอน
กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำรายได้ไปสนับสนุนการลดคาร์บอนและการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด
หมวด 11: คาร์บอนเครดิต
กำหนดมาตรฐานและระบบการรับรองคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเปิดโอกาสให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
หมวด 12: การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วางแผนรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การจัดการภัยพิบัติ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่อสภาพอากาศ
หมวด 13: มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
กำหนดหลักเกณฑ์ในการจำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและการลดคาร์บอน
หมวด 14: บทกำหนดโทษ
ระบุบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย รวมถึงการไม่ปฏิบัติตามมาตรการรายงานก๊าซเรือนกระจก การปล่อยก๊าซเกินกำหนด และการหลีกเลี่ยงการชำระภาษีคาร์บอน
จะเห็นว่าพรบ.ฉบับนี้ ได้กำหนดแนวทางและมาตรการสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจที่ต้องมีการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างถูกต้อง โปร่งใส และได้รับการทวนสอบตามมาตรฐานสากล ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจของ บริษัทที่ปรึกษา ในด้านต่าง ๆ โดยตรง
หนึ่งในประเด็นสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้คือ การกำหนดระบบรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกและการทวนสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ส่งผลต่อภาคเอกชนในทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทที่ปรึกษาสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยองค์กรภาคเอกชน จัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ของกิจการและผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งพัฒนาแนวทางลดการปล่อยก๊าซตามหลักวิทยาศาสตร์ที่เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
นอกจากนี้ ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System) และมาตรการภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ยังสร้างโอกาสสำหรับบริษัทที่ปรึกษาในแง่ของ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต และ การวางแผนกลยุทธ์การลดต้นทุนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ปฏิบัติตามกฎหมายและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
บทบาทใหม่ของธุรกิจที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสู่ผู้นำด้าน Low Carbon Solutions
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงส่งผลต่อมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั่น แต่ยังทำให้บริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและการบริหารโครงการต้องปรับตัว จากการดำเนินงานตามแนวทางเดิมไปสู่แนวทางที่คำนึงถึงการลดคาร์บอนมากขึ้น เช่น
- ที่ปรึกษาด้านการก่อสร้าง (Construction Management Consultant) เดิมที่ปรึกษางานก่อสร้างเน้นการควบคุมต้นทุนและคุณภาพของโครงการ แต่ในปัจจุบันสามารถ ขยายบทบาทเป็นที่ปรึกษาด้าน Low Carbon Construction โดยแนะนำวิธีการเลือกใช้วัสดุที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น คอนกรีตคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Concrete) หรือเหล็กรีไซเคิล ตลอดจนวางแผนการก่อสร้างเพื่อลดของเสียและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- ที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมและพลังงาน
บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานสามารถให้บริการเกี่ยวกับ การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency) และการปรับใช้พลังงานหมุนเวียน ในโรงงานและอาคาร ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการภาษีคาร์บอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ - ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต
ภายใต้ระบบซื้อขายสิทธิปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทที่ปรึกษามีโอกาสพัฒนาโครงการด้านคาร์บอนเครดิต เช่น โครงการปลูกป่าดูดซับคาร์บอน (Reforestation Carbon Offset) หรือ โครงการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถลดคาร์บอนได้ตามเป้าหมายและสามารถขายคาร์บอนเครดิตในตลาด - ที่ปรึกษาด้านการวางกลยุทธ์และการเงิน
เนื่องจากภาครัฐได้จัดตั้งกองทุนภูมิอากาศเพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก บริษัทที่ปรึกษาสามารถช่วยภาคเอกชนเข้าถึงเงินทุนสนับสนุน รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นกฎหมายสำคัญที่เปลี่ยนโฉมการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยองค์กรปรับตัว ปฏิบัติตามข้อกำหนด และใช้โอกาสจากการเปลี่ยนแปลงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน และความยั่งยืน บริษัทที่ปรึกษาสามารถช่วยให้ภาคธุรกิจไทยเติบโตไปพร้อมกับแนวโน้มเศรษฐกิจสีเขียวของโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
บทบาทใหม่ของบริษัทที่ปรึกษา จากที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสู่ผู้นำด้าน Low Carbon Solutions