1. การกำกับดูแลกิจการ
โครงสร้างของคณะกรรมการบริษัท
คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความหลากหลายในด้านทักษะความชำนาญ ความรู้ ประสบการณ์ เพศ และอายุ อันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งบริษัทมีคณะกรรมการจำนวน 9 ท่าน โดยกรรมการบริษัททั้ง 9 ท่าน มีกรรมการที่เป็นเพศหญิง 1 ท่าน และมีกรรมการที่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการอิสระ 5 ท่านของกรรมการทั้งหมด โดยคุณสมบัติของกรรมการอิสระเป็นไปตามเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด
โครงสร้างกรรมการบริษัท |
กรรมการอิสระ
จำนวน 5 ท่าน
(ร้อยละ 55.56)
|
กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร
จำนวน 2 ท่าน
(ร้อยละ 22.22)
|
กรรมการที่เป็นผู้บริหาร
จำนวน 2 ท่าน
(ร้อยละ 22.22)
|
การสรรหากรรมการบริษัท
คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทนจะพิจารณาคุณสมบัติของบุคคลที่จะเสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ตามข้อกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และกฎบัตรคณะกรรมการบริษัท โดยคำนึงถึงความหลากหลายในโครงสร้างคณะกรรมการ เช่น ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ ความสามารถที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท และความสามารถในการบริหารกิจการของบริษัท โดยไม่จำกัดเพศ และอายุ รวมทั้ง พิจารณาจากผลการปฏิบัติงานและการอุทิศเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ
การจัดตั้งกรรมการชุดย่อย
คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยชุดต่าง ๆ 5 คณะ เพื่อติดตามและกำกับการดูแลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทน และคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน
การสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทนจะพิจารณาจากผู้สืบทอดตำแหน่งที่มีคุณสมบัติตามทักษะของประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่กำหนดไว้ในแผนสืบทอดตำแหน่ง ซึ่งเป็นมีผู้ที่ประสบการณ์วิชาชีพ คุณสมบัติเฉพาะด้านต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ตลอดจนความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นที่เป็นปัจจัยสำคัญ อาทิ ความซื่อสัตย์และมีจริยธรรม (Integrity & Ethics) การมีวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Vision) มีความมุ่งมั่น (Tenacity) มีความสามารถในการสร้างแรงจูงใจ และแรงบันดาลใจ (Motivating & Inspiring) มีความสามารถในการสอนงาน (Coaching) มีความสามารถในการเสริมสร้างให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจ (Building Collaborative Network) มีทักษะ ภาวะผู้นำ (Leadership) มีความสามารถในการบริหารทรัพยากร งาน / คน / เงิน (Resources Management) และมีความสามารถในการพัฒนาธุรกิจ (Business Development) มีการปรับตัวและความยืดหยุ่น (Adaptability & Flexibility) โดยคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทนจะกลั่นกรองคุณสมบัติอย่างละเอียด รอบด้าน และโปร่งใส เสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่มีความเหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทนตำแหน่งที่ว่างลง ทั้งนี้ ปี 2566 บริษัทไม่มีการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารเนื่องด้วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนปัจจุบันสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้อย่างเหมาะสม
การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท
การประเมินตนเองของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย
ปี 2566 คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีการประเมินตนเองของคณะกรรมการบริษัท (ประเมินทั้งคณะ) ประจำปี 2566 และการประเมินตนเองคณะกรรมการรายบุคคล (ประเมินตนเอง) ประจำปี 2566 ตลอดจนการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการชุดย่อย โดยได้นำแนวทางการประเมินฯ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับลักษณะธุรกิจและโครงสร้างของบริษัท เพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท รวมถึงพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัท โดยมีผลการประเมิน ดังนี้
คณะกรรมการที่ประเมิน |
ผลการประเมิน |
• ผลการประเมินคณะกรรมการบริษัทรายคณะ |
ได้คะแนน ร้อยละ 92.82 |
• ผลการประเมินตนเองของกรรมการบริษัทรายบุคคล |
ได้คะแนน ร้อยละ 95.49 |
• ผลการประเมินคณะกรรมการตรวจสอบ |
ได้คะแนน ร้อยละ 99.17 |
• ผลการประเมินคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทน |
ได้คะแนน ร้อยละ 89.91 |
การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำปี โดยให้คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทนพิจารณาหลักเกณฑ์การประเมินเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท โดยได้กำหนดเกณฑ์การประเมินผลงานเพื่อให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมีการบริหารกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลัก กลยุทธ์ และสอดคล้องกับผลประโยชน์ของกิจการในระยะยาว และมีการสื่อสารให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทราบเกณฑ์การประเมินเป็นการล่วงหน้า โดยมีหลักเกณฑ์การประเมินสามส่วนหลัก ได้แก่ 1) การวัดผลการปฏิบัติจากดัชนีชี้วัดผลสำเร็จขององค์กร (Corporate Key Performance Indicators) 2) การวัดประสิทธิภาพในการบริหารงาน (Competency-based) และ 3) การวัดทักษะการบริหารจัดการ (Management Skills-based)
สำหรับการประเมินประจำปี 2566 พบผลการประเมินอยู่ในระดับที่แสดงให้เห็นถึงความพึงพอใจในผลการปฏิบัติงานในช่วงปีที่ผ่านมาในภาพรวม และคณะกรรมการประเมินผลฯ ได้รายงานสรุปผล ทบทวนประเด็นปัญหา และเสนอแนวทางในการพัฒนาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ต่อคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทน เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดค่าตอบแทนของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณา
การเข้าร่วมประชุมและการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการ
ปี 2566 บริษัทได้กำหนดวันและเวลาประชุมคณะกรรมการบริษัทเป็นการล่วงหน้าทั้งปี และแจ้งกรรมการล่วงหน้าเพื่อกรรมการสามารถจัดเวลาและเข้าร่วมประชุมได้ รวมทั้งกำหนดระเบียบวาระประจำของการประชุมแต่ละครั้งไว้อย่างชัดเจน โดยอาจมีการประชุมพิเศษเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น โดยปี 2566 คณะกรรมการบริษัทมีการประชุมรวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง ซึ่งกรรมการบริษัททุกท่านเข้าร่วมประชุมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 96.30 โดยมีการจัดประชุมระหว่างกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร ประจำปี 2566 จำนวน 1 ครั้ง
นโยบายการดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารในบริษัทอื่น
บริษัทได้มีนโยบายในการกำหนดจำนวนบริษัทที่กรรมการแต่ละท่านสามารถดำรงตำแหน่งโดยให้กรรมการแต่ละท่านสามารถดำรงตำแหน่งในบริษัทจดทะเบียนในตลาดได้ไม่เกิน 5 บริษัท โดยในปี 2566 ไม่มีกรรมการบริษัทที่ดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนเกิน 5 แห่ง
2. จรรยาบรรณธุรกิจ (Code of Conduct) และการต่อต้านการทุจริต
จรรยาบรรณธุรกิจ
บริษัทจัดทำจรรยาบรรณทางธุรกิจครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- การต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชัน
- การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- การปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูล การรักษาความลับ และการใช้ข้อมูลภายใน
- การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศและการป้องป้องทรัพย์สินทางปัญหา
- การต่อต้านการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
- สิทธิมนุษยชนและการไม่เลือกปฏิบัติ
- การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และความปลอดภัย
- การรับแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียน
การอบรมให้ความรู้พนักงานเกี่ยวกับจรรยาบรรณธุรกิจ
บริษัทได้มีการสื่อสารนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้างตัน ไว้บนเว็บไซต์ของบริษัท รวมถึงบรรจุเป็นหัวข้อการปฐมนิเทศพนักงานใหม่และบรรจุนโยบายดังกล่าวไว้ในคู่มือพนักงานส่งมอบให้พนักงานใหม่ทุกคนได้รับทราบ รวมทั้ง บรรจุไว้ในคู่มือกรรมการซึงจัดส่งให้กรรมการและผู้บริหารทุกคนครบร้อยละ 100 เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ของบริษัทรับทราบและยึดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด
กระบวนการติดตามและจัดให้มีการปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ
การติดตามเพื่อให้มีการปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ
บริษัทได้จัดทำข้อพึงปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียและข้อปฏิบัติทางจรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ ไว้สำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อย ได้ยึดถือในการปฏิบัติงาน และกำหนดให้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ที่จะต้องรับทราบและทำความเข้าใจ รวมทั้งต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผู้บริหารทุกระดับในองค์กร จะต้องดูแลรับผิดชอบและถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้พนักงานภายใต้สายบังคับบัญชาของตน รับทราบ เข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างจริงจัง โดยให้ข้อพึงปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียและข้อปฏิบัติทางจรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบปฏิบัติของบริษัทและบริษัทย่อย
ช่องทางการแจ้งเบาะแส รายงานกรณีถูกละเมิด หรือพบเห็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย กฎระเบียบ และจรรยาบรรณธุรกิจ
บริษัทกำหนดให้มีช่องทางให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถแจ้งเบาะแส รายงานกรณีถูกละเมิด หรือพบเห็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย กฎระเบียบ และจรรยาบรรณธุรกิจ ทางเว็บไซต์และอีเมล และสอบสวนกรณีมีเรื่องร้องเรียนอย่างโปร่งใสตามกระบวนการที่กำหนดในนโยบายการแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียนของบริษัท ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ได้แก่ การปกป้องคุ้มครองผู้ถูกร้องเรียน การตอบกลับผู้ร้องเรียน และการสืบสวนและเยียวยา โดยผู้ที่ประสงค์จะร้องเรียนสามารถส่งเรื่องมายังช่องทางในการรับเรื่องช่องทางใดช่องทางหนึ่งดังต่อไปนี้
1) กล่องรับข้อเสนอแนะและข้อร้องเรียน ณ บริเวณสำนักงานฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล
2) การแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียนโดยตรงถึง
● ผู้บังคับบัญชาที่พนักงานไว้วางใจทุกระดับ
● ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล
● ฝ่ายตรวจสอบภายใน
● เลขานุการบริษัท
● กรรมการตรวจสอบ
● กรรมการบริษัท
3) Website ของบริษัท : http://www.teamgroup.co.th
4) Email: ส่งตรงถึงคณะกรรมการตรวจสอบ ได้ที่ whistle-blowing@team.co.th
5) จัดส่งทางไปรษณีย์โดยตรงถึงคณะกรรมการบริษัท หรือคณะกรรมการตรวจสอบ ได้ที่
บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน)
151 ถนนนวลจันทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10230
การจัดการกรณีฝ่าฝืนจรรยาบรรณธุรกิจและการแก้ไขป้องกัน
ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือกระทำผิดแนวทางตามข้อพึงปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียและข้อปฏิบัติทางจรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ ได้กำหนดบทลงโทษโดยอ้างอิงจากระเบียบข้อบังคับในการทำงาน และอาจได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
การรายงานผลการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ
ในปี 2566 ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ฝ่ายจัดการได้รายงานให้กรรมการบริษัท รับทราบถึงการติดตามการดำเนินการตามจรรยาบรรณธุรกิจ
การเปิดเผยกรณีฝ่าฝืนจรรยาบรรณธุรกิจ
ปี 2566 ไม่พบกรณีฝ่าฝืนจริยธรรมธุรกิจของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน รวมถึงมีการปฏิบัติตามนโยบายด้านการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ บริษัทได้จัดทำมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดการละเมิดในกรณีต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
3. การบริหารจัดการความเสี่ยงและภาวะวิกฤติ
นโยบายและแผนการบริหารความเสี่ยง
บริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร และป้องกันความเสียหายและลดความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสในการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจในการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ บริษัทได้กำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงองค์กร และเผยแพร่ให้ผู้บริหารและพนักงานรับทราบแนวทางการบริหารความเสี่ยงผ่าน Intranet ของบริษัท โดยใช้แนวทางการบริหารความเสี่ยงฉบับปรับปรุงของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ COSO-ERM 2017 (The Committee of Sponsoring Organization of Treadway Commission; Enterprise Risk Management – Integrated Framework 2017) ซึ่งบริษัทกำหนดองค์ประกอบกิจกรรมหลักการบริหารความเสี่ยง 6 ขั้นตอน ดังนี้
- การกำหนดวัตถุประสงค์ (Objective Setting)
- การบ่งชี้ความเสี่ยง (Risk Identification)
- การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)
- การตอบสนองความเสี่ยง (Risk Response)
- กำหนดมาตรการควบคุม (Control Activities)
- การติดตามประเมินผลและรายงานความเสี่ยง (Monitoring and Reporting)
การจัดทำคู่มือบริหารความเสี่ยงองค์กรโดยคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงจัดทำคู่มือที่เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยงขององค์กร ได้กำหนดองค์ประกอบที่สัมพันธ์กับการดำเนินธุรกิจและกระบวนการบริหารงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เป็นแนวทางที่ชัดเจนและใช้ประโยชน์ในการจัดการความเสี่ยงขององค์กร โดยมีการทบทวนปรับปรุงแผนการบริหารความเสี่ยงองค์กรเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
การใช้คู่มือบริหารความเสี่ยงองค์กรเป็นแนวทางในการปฏิบัติการบริหารความเสี่ยง และความรับผิดชอบของทุกส่วนงาน
บริษัทได้ส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงาน ใช้คู่มือบริหารความเสี่ยงองค์กรเป็นแนวทางในการปฏิบัติการบริหารความเสี่ยง และให้ถือเป็นความรับผิดชอบของทุกส่วนงานที่ต้องนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน อีกทั้งมีช่องทางให้ผู้บริหารและพนักงานศึกษาการบริหารความเสี่ยง คู่มือบริหารความเสี่ยง ผ่านระบบ Intranet ของบริษัท
หน่วยงานที่ดูแลด้านความเสี่ยงในองค์กร
บริษัทได้กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และหน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำหนดกรอบและกระบวนการในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งไม่อยู่ภายใต้สายธุรกิจ มีประธานเจ้าหน้าที่กลยุทธ์เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด และประธานเจ้าหน้าที่การเงินเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานตรวจสอบภายนอก เพื่อติดตามและทวนสอบกระบวนการบริหารความเสี่ยง
การบริหารความเสี่ยง
บริษัทได้ทบทวนความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์ในการบริหารความเสี่ยงและการบ่งชี้ความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์และความเสี่ยงที่องค์กรยอมรับได้ ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยที่มีผลต่อบริษัททั้งจากภายในและภายนอกองค์กร โดยได้พิจารณาทั้งความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk)
ปี 2566 บริษัทได้ดำเนินการบริหารความเสี่ยง โดยเปิดเผยรายละเอียดความเสี่ยงด้านต่าง ๆ และแนวทางหรือแผนบริหารความเสี่ยงไว้ในแบบ 56-1 One Report ปี 2566 ของบริษัท โดยครอบคลุมประเด็นดังนี้
ความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปัจจุบัน
• ความเสี่ยงในการบริหารจัดการและการควบคุมคุณภาพงาน
• ความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล
• ความเสี่ยงจากการลงทุนในโครงการพัฒนาต่าง ๆ และการลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม
• ความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชัน
• ความเสี่ยงด้านการเงิน
• ความเสี่ยงจากการแข่งขันของบริษัทที่ปรึกษาทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
• ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเหตุปัจจัยภายนอก (External Factor) ในระหว่างการดำเนินโครงการ
การบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk)
บริษัทตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) ที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคตทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในด้านต่าง ๆ เช่น การเมือง (Political), เศรษฐกิจ (Economic),สังคม (Social),เทคโนโลยี (Technological), สิ่งแวดล้อม (Environmental) และกฎหมาย (Legal) ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ บริษัทได้พิจารณาจัดทำมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้า และสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับธุรกิจ โดยบริษัทได้บริหารความเสี่ยงใหม่ ได้แก่
• ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
• ความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์
• ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายสิ่งแวดล้อม
การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management : BCM)
คือกระบวนการบริหารซึ่งชี้บ่งภัยคุกคามต่อองค์กรและผลกระทบของภัยคุกคามนั้นต่อการดำเนินธุรกิจ และให้แนวทางในการสร้างขีดความสามารถให้องค์กรมีความยืดหยุ่น (Resilience) เพื่อการตอบสนองและปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ตลอดจน ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และกิจกรรมที่สร้างมูลค่าให้กับองค์กร โดยขั้นตอนที่สำคัญในการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ คือ การจัดทำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan : BCP) ซึ่งแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ คือเอกสารที่รวบรวมขั้นตอนและข้อมูลซึ่งทำให้องค์กรพร้อมที่จะนำไปใช้เมื่อเกิดอุบัติการณ์ (Incident) ที่ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก (Business Disruption) เพื่อให้สามารถดำเนินการในกระบวนการสำคัญ (Critical Business Process) อย่างต่อเนื่องในระดับที่กำหนด ในระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดระดับความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อองค์กรได้
แผนความต่อเนื่องทางธุรกิจฉบับนี้ จัดทำขึ้น เพื่อให้ TEAM Consulting Engineering and Management PCL. และ Subsidiaries หรือที่ต่อไปนี้จะเรียกรวมว่า “TEAM GROUP” สามารถนำไปใช้ในการตอบสนองและปฏิบัติงานในสภาวะวิกฤติหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกิดจากภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ หรือการก่อวินาศกรรมต่อองค์กร เช่น อุทกภัย อัคคีภัย การก่อการประท้วง การก่อการจลาจล โรคระบาด อุบัติเหตุ เป็นต้น โดยสภาวะวิกฤติหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวส่งผลให้การดำเนินงานของหน่วยงานหยุดชะงัก หรือไม่สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง
4. การบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า
เป้าหมายเชิงปริมาณของความพึงพอใจของลูกค้า
บริษัทจัดทำแผนพัฒนาความพึงพอใจของลูกค้า มีระบบการติดตามตรวจสอบความพึงพอใจของลูกค้าจากการสำรวจความพึงพอใจด้านคุณภาพของผลงาน ด้านเวลา ด้านการบริการและการสำรวจความพึงพอใจในภาพรวมทุกโครงการ ผ่านการประเมินความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction Survey) โดยการสำรวจจะเป็นการให้คะแนนความพึงพอใจในแต่ละหัวข้อย่อยของ 4 หัวข้อหลักข้างต้นโดยกำหนดความพึงพอใจเป็น 4 ระดับ ดังนี้
• 4 คะแนน = พอใจมากหรือสูงกว่าความคาดหวัง
• 3 คะแนน = พอใจหรือได้ตามที่คาดหวัง
• 2 คะแนน = ไม่พอใจหรือต่ำกว่าที่คาดหวัง
• 1 คะแนน = ไม่พอใจมากหรือต่ำกว่าที่คาดหวังมาก
โดยบริษัทกำหนดเกณฑ์โครงการที่ผ่านการประเมินจะต้องได้รับคะแนนตั้งแต่ 3 คะแนนขึ้นไปในแต่ละหัวข้อย่อยของ 4 ข้อหลัก หากผลการประเมินพบว่ามีข้อใดข้อหนึ่งได้คะแนนต่ำกว่า 3 คะแนนจะถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์
ผลการประเมินความพึงพอใจของลูกค้า
ปี 2566 บริษัทได้เข้าประเมินผลความพึงพอใจของลูกค้า 147 โครงการ ผลการประเมินมีโครงการที่ผ่านเกณฑ์ 135 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 92 ของจำนวนโครงการที่เข้าประเมิน โดยคะแนนเฉลี่ยในแต่ละหัวข้อมี ดังนี้
หัวข้อ |
คะแนนเฉลี่ยจากคะแนนเต็ม 4 |
(1) คุณภาพ |
3.6 |
(2) เวลา |
3.6 |
(3) การบริการ |
3.8 |
(4) ภาพรวม |
3.6 |
นำข้อมูลที่ได้จากการประเมินความพึงพอใจของลูกค้ามาพัฒนาและปรับปรุงสินค้า/บริการ/กระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัท
ผู้จัดการโครงการจะจัดทำแผนแก้ไขปัญหาเพื่อปรับปรุงคุณภาพงานให้แก่ลูกค้าอย่างทันท่วงทีและ บริษัทจะนำข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากลูกค้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
การบริหารข้อร้องเรียนจากลูกค้า
บริษัทได้จัดให้มีช่องทางที่ลูกค้าสามารถร้องเรียนผ่านระบบรับข้อร้องเรียนและแจ้งเบาะแสบนเว็ปไซต์ของบริษัท และ/หรือ ผ่านช่องทางการแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียนตามที่ระบุไว้ในหัวข้อที่ 8.1.4 การติดตามให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการ หัวข้อ 2) การแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียน โดยบริษัทมีกระบวนการในการบริหารจัดการข้อร้องเรียนจากลูกค้า ดังนี้
กระบวนการในการบริหารจัดการข้อร้องเรียนจากลูกค้า
5. การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
ความเสี่ยงที่เกิดจากคู่ค้า (Supplier) ของบริษัท
หลักเกณฑ์ในการระบุคู่ค้าสำคัญที่ทำธุรกิจกับบริษัทโดยตรง (Critical Tier 1) และคู่ค้าสำคัญที่ไม่ได้ทำธุรกิจกับบริษัทโดยตรง (Critical Non-Tier 1)
บริษัทได้กำหนดในระเบียบปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง ในด้านการประเมินความเสี่ยงและจำแนกประเภทคู่ค้า โดยกำหนดเกณฑ์ในการประเมินความสำคัญของคู่ค้า (Critical Supplier) และความเสี่ยงด้าน ESG (ESG Risk) เพื่อจัดกลุ่มคู่ค้าตามความเสี่ยง โดยพิจารณาสินค้าและการให้บริการคู่ค้า การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละกลุ่มสินค้าและการให้บริการ มีการกำหนดเกณฑ์การจำแนกประเภทคู่ค้า เพื่อให้สามารถบริหารจัดการคู่ค้าได้อย่างเหมาะสม โดยแบ่งตามประเภท ดังนี้
– คู่ค้าทางตรง (Tier 1 Suppliers) หมายถึง คู่ค้าที่เป็นผู้ขายหรือให้บริการโดยตรงแก่โครงการ
– คู่ค้าทางอ้อม (Non-Tier 1 Suppliers) หมายถึง คู่ค้าที่เป็นผู้ขายหรือให้บริการทั่วไปขององค์กร
– คู่ค้าทางตรงรายสำคัญ (Critical Tier 1 Suppliers) หมายถึงคู่ค้ารายสำคัญที่เป็นผู้ขายหรือให้บริการโดยตรงแก่โครงการ ที่มีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างตามที่บริษัทกำหนด
– คู่ค้าทางอ้อมรายสำคัญ (Critical Non-Tier 1 Suppliers) หมายถึง คู่ค้ารายสำคัญที่เป็นผู้ขายหรือให้บริการทั่วไปแก่องค์กร ที่มีมูลค่าจัดซื้อจัดจ้างตามที่บริษัทกำหนด
จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ/หรือบรรษัทภิบาล
บริษัทได้กำหนดจรรยาบรรณคู่ โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกันระหว่างบริษัทและคู่ค้า อาทิ ดำเนินธุรกิจอย่างซื่อสัตย์สุจริต เป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วน รักษาความลับ และเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น และดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชำติและสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Products) เป็นต้น โดยได้เปิดเผยไว้บนเว็บไซต์ของบริษัท ภายใต้หัวข้อ “การกำกับดูแลกิจการ” เพื่อให้คู่ค้ารับทราบและให้ความร่วมมือในการดำเนินการ
ระยะเวลาชำระเงินให้แก่คู่ค้าอย่างเป็นธรรมเพื่อให้คู่ค้ามีสภาพคล่องทางการเงินและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
บริษัทได้แจ้งให้ลูกค้ารับทราบถึงกำหนดระยะเวลาชำระค่าสินค้าและบริการ โดยขึ้นอยู่กับเครดิตเทอมของคู่ค้าแต่ละราย โดยทั่วไปประมาณ 30-60 วัน โดยในปี 2566 ระยะเวลาเฉลี่ยของการชำระเงินให้แก่คู่ค้าที่เกิดขึ้นจริงอยู่ที่ 46 วัน
6. การดำเนินการด้านภาษี
นโยบายด้านภาษี
บริษัทมีความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการด้านภาษีที่รัดกุม ส่งเสริมการสร้างมูลค่าและคุณค่าสูงสุดให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย มีการเสียภาษีอย่างถูกล้องตามที่กฎหมายกำหนด ดลอดจนมีแนวทางในการวางแผนและปฏิบัติงานค้านภาษี สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ของธุรกิจที่คำเนินการทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรมต่อผู้มีส่วน ได้เสียทุกกลุ่ม โดยตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงใช้โครงสร้างภาษีในแนวทางที่ถูกต้อง และไม่ก่อให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษี จึงกำหนดน นโยบายค้านภาษี เพื่อเป็นแนวปฏิบัติทางด้านภาษี และเปิดเผยไว้บนเว็บไซต์ของบริษัท ภายใต้หัวข้อการกำกับดูแลกิจการ > นโยบายการกำกับดูแลกิจการ > นโยบายด้านภาษี
การจ่ายภาษีที่แท้จริงหรืออัตราภาษีที่จ่ายจริง ปี 2561 – 2566
|
2562 |
2563 |
2564 |
2565 |
2566 |
อัตราภาษีตามกฎหมาย |
20% |
20% |
20% |
20% |
20% |
อัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริง |
20% |
20% |
21% |
20% |
23% |
7. นวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ทีมกรุ๊ปให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยบริษัทได้กำหนดเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมให้พนักงานเสนอแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจและสังคมให้เกิดขึ้นภายในบริษัทที่เกี่ยวกับ กระบวนการทำงาน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กร
การนำความรู้หรือประสบการณ์ด้านความยั่งยืนมาพัฒนา/ปรับใช้/คิดค้นนวัตกรรมที่สามารถเสริมสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และ/หรือสิ่งแวดล้อม
• วิสัยทัศน์หรือภารกิจหรือนโยบายของบริษัทที่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อม
บริษัทมุ่งมั่นในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้ผนวกการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเข้าเป็นวิสัยทัศน์ กลยุทธ์การดำเนินงาน ตลอดจนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัท
วิสัยทัศน์ : “ผู้นำด้านบริการแบบครบวงจรในภูมิภาค และพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม”
กลยุทธ์ที่เกี่ยวข้อง: พัฒนาเทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กร และมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งภายในองค์กร และให้บริการแก่บุคคลภายนอก
กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน:
มิติ |
กลยุทธ์ |
มิติสิ่งแวดล้อม (E)
|
Environmental-Friendly: เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดำเนินงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานและทรัพยากร ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อันจะนำไปสู่การเติบโตพร้อมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
|
มิติสังคม (S)
|
Synergy of Knowledge: ต่อยอดความรู้ สู่โลกดิจิทัล
เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการพร้อมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อก้าวสู่โลกเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ยกระดับการให้บริการที่มีมาตรฐาน ควบคู่กับความสุขของคนในครอบครัวทีมกรุ๊ป ชุมชน และสังคมรอบด้าน เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติในระยะยาว
|
มิติบรรษัทภิบาล (G)
|
Innovative Business: สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน
บริการแบบครบวงจร อย่างมีคุณภาพตามค่านิยม SQT ขององค์กร และพัฒนาธุรกิจรวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตร มีกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการเติบโตอย่างยั่งยืน
|
- โครงการส่งเสริมการคิดค้นหรือพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นภายในบริษัท
- บริษัทให้ความสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมการคิดค้นหรือพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นภายในบริษัท โดยจัดตั้งหน่วยธุรกิจลงทุนนวัตกรรม และฝ่ายนวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อศึกษาและดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับด้านนวัตกรรมอย่างจริงจัง
- นำระบบบริหารจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ด้วย Conzol ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยควบคุม จัดการ บริหาร และประสานงานร่วมกันทุกส่วนงาน ช่วยลดขั้นตอน ลดเวลา ลดต้นทุน และลดการใช้กระดาษได้อย่างมีประสิทธิผล และสามารถบริหารจัดการเอกสารเป็นไปอย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาหรือต่อยอดสินค้าหรือบริการหรือกระบวนการให้เป็นนวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อม
นวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อมของบริษัท:
เทคโนโลยี Digital Twin: ด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัทที่มุ่งสู่การเป็น ผู้นำด้านบริการแบบครบวงจรในภูมิภาค และพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม ในเดือนธันวาคม ปี 2565 บริษัทร่วมกับพันธมิตรได้ก่อตั้งบริษัท ดี ที เอ็กซ์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนา ออกแบบ ติดตั้ง วางระบบ บำรุงรักษา เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยี Digital Twin โดยพัฒนาแพลตฟอร์มมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ประโยชน์ของนวัตกรรมในด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม
• ประโยชน์เชิงปริมาณต่อธุรกิจ: Digital twin เป็นแบบจำลองฝาแฝดสามารถแสดงรายละเอียดและคุณสมบัติเทียบเท่าวัตถุจริง สามารถให้ข้อมูลแบบ Real Time จึงช่วยให้เจ้าของอาคารสถานที่สามารถตรวจสอบ (monitor) การทำงานของระบบสาธารณูปโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดต้นทุน ลดค่าไฟฟ้า
การที่บริษัทพัฒนาแอปพลิเคชัน Digital Twin ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับบริษัท โดยบริษัทได้รับความไว้วางใจในการให้บริการแก่ลูกค้าภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจหลายโครงการ อาทิ โครงการ Digital Twin for IEAT, Samut Sakorn และ โครงการ R&D Digital Twin for EGAT เป็นต้น
• ประโยชน์เชิงปริมาณต่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อม: การใช้ Digital Twin ในการบริหารจัดการอาคารสถานที่ ทำให้สามารถรตรวจสอบ (monitor) การทำงานของระบบสาธารณูปโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ระบบไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำ กล้องวงจรปิด คุณภาพน้ำเสีย ระดับน้ำฝน และช่วยตรวจวัดค่าอากาศ (ค่า PM 2.5) ในพื้นที่ได้แบบ real time ทำให้ทราบว่าแต่ละจุดมีอุปกรณ์ใดเสียหาย ต้องการการเปลี่ยนซ่อมแซม ช่วยลดลดการใช้ทรัพยากร ลดต้นทุน ลดค่าไฟฟ้า ลดการก่อก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว ป้องกันน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพระบบรักษาความปลอดภัย
นอกจากนี้ บริษัท ยังให้ความรู้ด้าน Digital Twin สู่สาธารณชนผ่านการสัมมนา และการบรรยายในสถานศึกษา ต่าง ๆ ซึ่ง Digital Twin เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป ช่วยลดเวลาในการทำงาน และสามารถขยายขอบเขตในการนำข้อมูลดิจิตอลไปใช้ในงานด้านต่าง ๆ ได้อีกด้วย
วันที่ออกจำหน่าย / เริ่มใช้นวัตกรรม: บริษัทเริ่มพัฒนาเทคโนโลยี Digital Twin ตั้งแต่ปี 2565 – ปัจจุบัน